Design Thinking เรื่องที่ผู้นำต้องเข้าใจ

Design Thinking เป็นแนวการใช้ความคิดแบบใหม่ ที่จะให้ความสำคัญในการใช้ “คน” เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา ต่างไปจากวิธีการคิดแบบเดิมที่มักจะใช้ “ปัญหา” เป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา โดยวิธีการคิดแบบนี้จะเป็นการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้คนเป็นศูนย์กลางของปัญหา สามารถเรียกวิธีการคิดแบบนี้ได้อีกชื่อหนึ่งว่า Human Centered Design ซึ่งการคิดแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนี้จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

หลักการคิดแบบ Design Thinking

หลักของวิธีการคิดแบบนี้มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ “คิดอย่างเข้าใจ” “คิดแบบไร้กรอบ” และ “คิดเร็วทำเร็ว” ซึ่งหลักการคิดเหล่านี้มักจะถูกนำไปใช้ในองค์กรสมัยใหม่ ที่ต้องการความรวดเร็วในการพัฒนาสินค้าและบริการขององค์กร ไปจนถึงการพัฒนาองค์กรในส่วนต่าง ๆ ดังนั้นในองค์กรที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดในการแก้ไขปัญหาในองค์กรควรให้ความสำคัญ โดยเริ่มจากตัวของผู้บริหารเอง ตลอดจนผู้จัดการระดับต่าง ๆ ที่ต้องเข้าใจหลักการคิดแบบนี้

  • คิดอย่างเข้าใจ

ก่อนที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่างที่เกิดขึ้นกับคนหรือกลุ่มคนนั้น ทางออกที่จะทำให้เราสามารถ “เข้าใจ” ปัญหาได้ดีที่สุดก็คือการพูดคุยกับกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของปัญหานั่นเอง กล่าวคือในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อที่จะทำการแก้ไขปัญหาบางอย่างให้กับกลุ่มเป้าหมาย เจ้าของผลิตภัณฑ์ควรจะต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ก่อนที่จะไปทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะการออกแบบผลิตภัณฑ์บนความต้องการของเราเอง มีความเสี่ยงสูงมากในการที่จะกลายเป็นสินค้าที่ขายไม่ออก เรื่องนี้จะช่วยให้องค์กรลดปัญหาเรื่องของการผลิตสินค้าที่ไม่มีคนต้องการออกมานั่นเอง

  • คิดแบบไร้กรอบ

หลังจากที่ทีมงานไปรับฟังความต้องการและปัญหาจากกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงแล้ว ก็ได้เวลาที่ทีมงานจะต้องกลับมาทำการออกแบบวิธีการในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แน่นอนว่าเรื่องของการ brainstorm เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และจะต้องเป็นการระดมสมองแบบไร้ขีดจำกัด ทุกคนสามารถเสนอความคิดที่น่าจะเป็นไปได้ออกมาให้มากที่สุด ที่สำคัญทีมงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็น และจะต้องไม่มีการตีกรอบหรือจำกัดความคิดในขั้นตอนนี้ ผู้บริหาร/ผู้จัดการเองก็ต้องเข้าใจและไม่ทำการชี้นำการเสนอความคิดในขั้นตอนนี้

เครื่องมือที่จะช่วยให้การระดมสมองในขั้นตอนนี้มีการเก็บรวบรวมความคิดได้อย่างครบถ้วนก็คือ กระดาษโพสต์อิท ปากกา และกระดานหรือผนังว่าง ๆ สำหรับติดความคิดต่าง ๆ ลงไป นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบความคิดต่าง ๆ การจัดหมวดหมู่ของความคิด รวมถึงการนำเอาความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปได้อีกด้วย การระดมความคิดในขั้นตอนนี้จะทำให้เราได้ทราบถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมุมมอง วิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย จนนำไปลำดับของวิธีการที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย

  • คิดเร็วทำเร็ว

เมื่อได้ไอเดียที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการแก้ไขปัญหาแล้ว ขั้นตอนนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญขององค์กร จากเดิมที่จะต้องนำเอาไอเดียไปเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตซึ่งมักจะใช้เวลาที่นานและมีต้นทุนที่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการผลิตขึ้นมาอีก ทำให้การตัดสินใจทำอะไรในรูปแบบเดิมมีความล่าช้า

แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นการคิดแบบ Design Thinking แล้ว หลังจากที่ได้ไอเดียก็จะเป็นการนำเอาไอเดียไปพัฒนาเป็นตัวต้นแบบหรือ prototype ทันที โดยตัวต้นแบบจะเป็นการนำเอาไอเดียไปทำออกมาให้เป็นตัวต้นแบบอย่างเร็วที่สุด เพื่อที่จะทำการทดสอบว่าไอเดียที่คิดไว้เป็นไปได้จริงหรือไม่ บางไอเดียก็ล้มเหลวไปตั้งแต่ยังทำต้นแบบไม่เสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะยิ่งล้มเหลวเร็วเท่าไรก็ทำให้เราสามารถนำไอเดียต่อไปมาใช้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น ขั้นตอนนี้สามารถลดความเสี่ยงและลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าการคิดแบบ Design Thinking นั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกฝ่ายทุกแผนกขององค์กร เพราะต้นแบบของความคิดมาจากกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง เป็นการพัฒนาความคิดที่หลากหลายไม่มีอคติ และสุดท้ายนำไปสู่การทดลองได้อย่างรวดเร็ว ถ้าล้มเหลวอย่างน้อยก็ได้ลองทำแล้ว จะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจกันอีกต่อไป การคิดแบบนี้ผู้บริหาร ตลอดจนผู้จัดการในระดับต่าง ๆ ต้องเข้าใจและใจกว้างทุกอย่างจึงจะเดินหน้าต่อไปได้

 

ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม

Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA รุ่นที่ 3  (Certificate Program)

หลักสูตรเร่งรัดด้านการบริหารธุรกิจ สำหรับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารมือใหม่ และผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้องค์กรสู้กลับโลกยุค VUCA โดยศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดแห่งภูมิภาคเอเชีย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

60 ชม. คุ้มค่า เร่งรัด รวดเร็ว กับ 20 วิชาที่ครอบคลุมด้านการบริหารจัดการ โดย 20 จากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ

อบรมเฉพาะวันเสาร์ 9.00 – 16.00 น. เริ่ม 3 กันยายน – 19 พฤศจิกายน 2565

——————————

สมัครหรือสอบถามรายละเอียดที่

Website: amec-ku.org

E-mail: [email protected]

Facebook: Fast Mini MBA

Line: @fastminimba

หรือโทร. 090-297-9104