วิชาที่เมื่อคนเข้าเรียนหลักสูตร MBA (Master of Business Administration) ส่วนใหญ่บ่นกันว่ายาก และจำเป็นที่จะต้องมีการเรียนปรับพื้นฐานก่อนมีอยู่หลายตัว หนึ่งในวิชานั้นคือ วิชาการบัญชีบริหาร ซึ่งจริง ๆ แล้ววิชานี้ถือเป็นวิชาสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจในปัจจุบันได้
นอกจากการทำธุรกิจแล้ว การเป็นเถ้าแก่ที่ดีคุณควรรู้ และเข้าใจ การผลิตสินค้า การขายการตลาด การบัญชีการเงิน และการบริหารจัดการองค์กร ที่คุณสามารถจ้างมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถมาดูแลแทนคุณได้ โดนเฉพาะงานบัญชี เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของการทำตามกฎหมาย เป็นเรื่องของการเสียภาษี การบัญชีประเภทนี้เราเรียกว่า การบัญชีการเงิน
ยังมีการบัญชีอีกประเภทหนึ่ง คือ การบัญชีบริหาร ที่คุณไม่ค่อยรู้ หรือไม่ค่อยให้ความสนใจ และไม่จ้างคนมาทำงานการบัญชีประเภทนี้ เนื่องจากการบัญชีบริหารเป็นการนำข้อมูลทางการเงินที่ไม่ใช่ตัวเงินที่แท้จริงของกิจการมาใช้วิเคราะห์ ติดตามผลการดำเนินงาน ควบคุมการทำงานของคนงานโดยจัดทำในรูปแบบที่เป็นรายงานหรืออัตราส่วนตัวเลขต่าง ๆ
ความแตกต่างระหว่างการบัญชีการเงินและการบัญชีการบริหาร
การบัญชีการเงิน
- เน้นจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอแก่บุคคลภายนอก
- การจัดทำอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย
- การจัดทำขึ้นต้องดำเนินการตามหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป
- เสนอข้อมูลในภาพรวมของกิจการ
- เสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับรายการดำเนินงาน
- ข้อมูลจะถูกเสนอตามรอบบัญชี
การบัญชีบริหาร
- เป็นการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอแก่ผู้บริหาร
- การจัดทำไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย
- ระยะเวลาการจัดทำยืดหยุ่นตามประเด็นของปัญหาการตัดสินใจ
- การจัดทำเน้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ
- การเสนอข้อมูลของกิจการโดยเน้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของกิจการ
- การนำเสนอข้อมูลทั้งทางด้านเชิงคุณภาพและข้อมูลจากปัจจัยภายนอกก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ
- รายงานจะถูกเสนอตามเวลาที่ผู้บริหารเกิดความต้องการ
แต่ก่อนที่คุณจะสามารถใช้ประโยชน์จากการบัญชีบริหารได้ คุณต้องมีความเข้าใจ งบการเงิน ก่อน ซึ่งงบการเงินประกอบด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ซึ่งงบทั้ง 3 ประเภทจะต้องนำส่งให้รัฐเป็นประจำทุก ๆ ปี
- งบดุล ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่
- สินทรัพย์ คือ สิ่งที่กิจการเป็นเจ้าของ ได้แก่ สินทรัพย์หมุนเวียน คืออะไรก็ตามที่สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มหรือลดได้ภายใน 1 ปี เช่น เงินสด เงินฝากสินค้าคงเหลือ ลูกหนี้สินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ในการผลิต ยานพาหนะและเครื่องใช้สำนักงานและสินทรัพย์ประเภทสุดท้าย คือ สินทรัพย์อื่น เช่น เงินลงทุนระยะยาว
- หนี้สิน เป็นภาระผูกพันที่กิจการจะต้องจ่ายในอนาคตได้แก่ หนี้สินหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนี้สินระยะสั้น เช่น เงินเบิกเกินบัญชี เจ้าหนี้ต่างๆ ภาษีที่ค้างจ่าย และหนี้สินระยะยาว เช่น เงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้ เป็นต้น
- ส่วนของเจ้าของ หมายถึง สิ่งที่เป็นของเจ้าของในกิจการได้แก่ ทุนที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุน ซึ่งก็คือ หุ้น ส่วนเกินมูลค่าหุ้น และส่วนของเจ้าของอีกประเภทหนึ่ง คือ กำไรที่ยังไม่ได้จัดสรรคืนเจ้าของ เช่น กำไรสะสมที่ยังไม่ได้แบ่ง
- งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่บอกผลการดำเนินงานของกิจการว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ โดยการนำรายได้มาหักจากรายจ่าย หลายคนอ่านมาถตรงนี้แล้วอาจจะบอกว่าง่ายแค่นี้ไม่ต้องเรียน MBA ก็ได้ แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คุณคิดเลย เพราะรายได้ที่นำมาคิด คือ รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นการขายเงินสดหรือขายเชื่อ รายได้จากค่าเช่า ค่านายหน้า ดอกเบี้ยรับ และวิธีการบันทึกรายได้แบบอื่น ๆ
ส่วนรายจ่าย คือการนำต้นทุนการขายสินค้าหรือบริการ เงินเดือน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ
ดอกเบี้ยจ่าย ค่าเช่า และที่สำคัญคือต้องรวมค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ด้วย เห็นไหมว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คุณคิด แต่อย่างที่เคยบอกไว้ว่าคุณทำบัญชีไม่เป็นไม่เป็นไรแต่ขอให้อ่านงบการเงินเป็นก็ใช้ได้แล้ว งบกำไรขาดทุนที่แสดงในงบกำไรขาดทุน จะแตกต่างจากกำไรหรือขาดทุนที่เป็นตัวเงินที่เราคิดกันแบบทั่วไป ซึ่งจะมีการนำผลกำไรขาดทุนจากงบนี้ไปใช้ในการคำนวณภาษีต่อไป ขณะเดียวกันข้อมูลจากงบกำไรขาดทุนจะถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์สุขภาพกิจการของคุณได้เป็นอย่างดี
- งบกระแสเงินสด เป็นงบที่แสดงการเปลี่ยนแปลงเงินสดในกิจการของคุณในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากอะไร ไม่ว่าเกิดจากเพิ่มหรือลดทุนของกิจการ เงินสดจากการกู้หรือการชำระเงินกู้ของกิจการ ดอกเบี้ยรับหรือดอกเบี้ยจ่าย และเงินสดจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการ
ซึ่งรายการที่กล่าวไปข้างต้นสามารถจัดประเภทเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกิจกรรมการดำเนินการ สังเกตได้ว่าในส่วนของงบกระแสเงินสดนี้จะช่วยให้คุณสามารถมองเห็นว่าเงินสดของคุณที่ทำมาทั้งปีคงเหลืออยู่เท่าไร ซึ่งกำไรที่คิดจากงบกำไรขาดทุนนั้นเมื่อไปรวมกับเงินสดต้นปีแล้วจะได้ไม่เท่ากับเงินสดปลายปี เช่น หากเราขายเป็นเงินเชื่อเราจะยังไม่ได้เงิน หรือหากเราได้รับเครดิตการค้าจากผู้ค้าวัตถุดิบเราจะยังไม่ต้องจ่ายเงิน ในกรณีนี้เงินสดในมือก็จะเพิ่มขึ้น
ในหลาย ๆ ธุรกิจให้ความสำคัญกับงบกระแสเงินสดมากกว่างบอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มตั้งธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่ต้องใช้เงินหมุนเวียนในการดำเนินงานสูง เพราะการที่มีเงินสดในมือแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจ่าย เป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ค้าวัตถุดิบ เป็นต้น
เมื่อคุณได้งบทั้ง 3 ประเภทแล้ว คุณจะสามารถนำเอาข้อมูลจากงบการเงินมาใช้ในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดมากพอสมควร
บทความโดย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร www.facebook.com/udompk
Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA รุ่นที่ 3 (Certificate Program)
หลักสูตรเร่งรัดด้านการบริหารธุรกิจ สำหรับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารมือใหม่ และผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้องค์กรสู้กลับโลกยุค VUCA โดยศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดแห่งภูมิภาคเอเชีย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
60 ชม. คุ้มค่า เร่งรัด รวดเร็ว กับ 20 วิชาที่ครอบคลุมด้านการบริหารจัดการ โดย 20 จากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ
อบรมเฉพาะวันเสาร์ 9.00 – 16.00 น. เริ่ม 3 กันยายน – 19 พฤศจิกายน 2565
——————————
สมัครหรือสอบถามรายละเอียดที่
E-mail : [email protected]
Facebook : FastMiniMba
Line : @Fastminimba
หรือโทร. 090-276-9104