จากบทความ เมื่อเถ้าแก่เข้าห้องเรียน MBA ตอน เมื่อเถ้าแก่ต้องเรียนวิชาการบัญชีบริหาร ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการบัญชีการเงินและการบัญชีการบริหารไปแล้ว แต่สำหรับตอนนี้คุณคงต้องสนใจเป็นพิเศษ เพราะเมื่อคุณเข้าใจงบการเงินทั้ง 3 ประเภทแล้ว คุณจะต้องนำเอาข้อมูลจากงบการเงินมาใช้ในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ต่อไป
อัตราส่วนทางการเงิน กลุ่มที่ 1 เราเรียกว่าการวิเคราะห์สภาพคล่อง หรืออัตราส่วนวัดสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยในการวัดความสามารถของธุรกิจคุณว่าจะจ่ายชำระหนี้สินได้ดีมากน้อยเพียงใด อัตราส่วนกลุ่มนี้จะประกอบด้วย
- เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งนำสินทรัพย์หมุนเวียนหักด้วยหนี้สินหมุนเวียน จำนวนเงินทุนหมุนเวียนของแต่ละกิจการควรจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในขณะนั้น เช่น หากเป็นธุรกิจขายเงินสด เงินทุนหมุนเวียนอาจจะต้องมีมากกว่าธุรกิจที่มีเครดิตทางการค้า
- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน มาจากการนำสินทรัพย์หมุนเวียนหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน อัตราส่วนนี้จะช่วยประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการได้ดีกว่าเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะหนี้สินระยะสั้น เพราะหากอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสูงแสดงว่ากิจการมีความสามารถในการชำระหนี้สินหมุนเวียนหรือหนี้สนิระยะสั้นดี
- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว คือการที่สินทรัพย์มีสภาพคล่องสูง ได้แก่สินทรัพย์หมุนเวียนหักด้วยสินทรัพย์คงเหลือและหักด้วยค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ไปหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งหากอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็วต่ำ กิจการของคุณควรที่จะเพิ่มเงินสดหรือเปลี่ยนจากหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาว
อัตราส่วนทางการเงิน กลุ่มที่ 2 คือ อัตราส่วนทางการเงินเพื่อวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกิจการซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ลูกหนี้ และการวิเคราะห์สินค้าคงเหลือ
ทั้งนี้การวิเคราะห์ลูกหนี้จะเป็นการช่วยให้คุณรู้ว่าคุณควรที่จะบริหารจัดการลูกหนี้อย่างไร ควรที่จะให้สินเชื่อการค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลง ระยะเวลาสั้นลงหรือยาวนานขึ้น โดยพิจารณาจากอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ ซึ่งเกิดจาการนำยอดขายเชื่อสุทธิ หารด้วยลูกหนี้สุทธิหารเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ทราบว่ากิจการมีความสามารถในการเปลี่ยนลูกหนี้เป็นเงินสด และยังช่วยในการบริหารลูกหนี้ได้ว่าในรอบการดำเนินงาน 1 รอบ กิจการสามารถเรียกเก็บเงินลูกหนี้ได้บ่อยแค่ไหนตัวเลขที่ช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้อีกตัวหนึ่งได้แก่ ระยะเวลาในการจัดเก็บหนี้ ซึ่งคำนวณได้จาก ลูกหนี้สุทธิสิ้นปีหารด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งตัวเลขที่ได้จะช่วยทำให้คุณทราบระยะเวลาที่ควรให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้
อัตราส่วนทางการเงิน กลุ่มที่ 3 เป็นการวัดความสามารถในการก่อหนี้ได้ในระยะยาวของกิจการ คือ อัตราส่วนวัดสภาพหนี้สิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่จะให้กู้เงินแก่กิจการพิจารณาได้ว่ากิจการของคุณมีความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ยืมในระยะยาวหรือไม่
หรือในมุมกลับกันหากคุณจะปล่อยเครดิตให้กับลูกหนี้ก็สามารถใช้อัตราส่วนในกลุ่มนี้พิจารณาในการปล่อยเครดิตให้กับลูกหนี้ของกิจการได้ด้วย
อัตราส่วนวัดสภาพหนี้สินที่สำคัญได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งนำหนี้สินรวมหารด้วยสินทรัพย์รวม จำนวนที่ได้จากการหารจะบ่งบอกว่าแต่ละกิจการสามารถที่จะก่อหนี้ได้อีกมากน้อยเพียงใดในอนาคตหากตัวเลขต่ำแสดงว่ายังสามารถก่อหนี้ได้อีก เพราะแสดงให้เห็นว่ามีสินทรัพย์มากพอที่จะชำระหนี้ได้หากเกิดปัญหาขึ้น
คุณอาจจะอยากทราบว่าแล้วอัตราส่วนเท่าไรถึงจะดี ก็คงไม่สามารถที่จะตอบได้เลยว่าเท่าไรถึงจะดีแต่ที่แน่ ๆ ยิ่งต่ำยิ่งดี ซึ่งเหมือนกับเวลาที่คุณไปขอกู้เงินที่ธนาคาร ธนาคารจะมีการพิจารณาเปรียบเทียบอัตราส่วนนี้ของคุณกับลูกหนี้คนอื่นของธนาคารที่อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน
และยิ่งกิจการของคุณมีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวมลดลงทุก ๆ ปี แสดงให้เห็นว่ากิจการของคุณมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อัตราส่วนสินทรัพย์ถาวรต่อหนี้สินระยะยาว จะมองมุมกลับจากอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวม เพราะอัตราส่วนสินทรัพย์ถาวรต่อหนี้สินระยะยาวจะเกิดจากการนำสินทรัพย์ถาวรมาหารด้วยหนี้สินระยะยาว ซึ่งอัตราส่วนที่ได้ยิ่งสูงจะยิ่งดี หากทุกปีกิจการของคุณมีตัวเลขที่ได้สูงขึ้นทุกปีจะแสดงความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของกิจการดีขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารที่ปล่อยกู้จะชอบมากหากอัตราส่วนนี้ของกิจการคุณสูงมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของเงินที่จะปล่อยกู้ให้กิจการของคุณ
อัตราส่วนอีกตัวในกลุ่มนี้ คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการนำหนี้สินรวมมาหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นรวม ซึ่งผลที่ได้จะแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้มากน้อยเพียงใด โดยไม่มองเงินหรือสินทรัพย์ส่วนตัวของคุณ หากตัวเลขที่วัดออกมามีค่าต่ำแสดงว่าความสามารถในการชำระหนี้ของผู้เป็นเจ้าของสูง สามารถที่จะก่อหนี้ระยะยาวได้
สำหรับอัตราส่วนสุดท้ายในกลุ่มอัตราส่วนวัดสภาพหนี้สิน คือ ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของกิจการ เพื่อนำมาชำระดอกเบี้ยว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้าอัตราส่วนนี้สูง ความเสี่ยงในการจ่ายดอกเบี้ยจะยิ่งน้อย ซึ่งมีวิธีการหาได้โดยการนำ กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีหารด้วยดอกเบี้ยจ่าย
ตัวเลขที่ได้จะสะท้อนให้เห็นว่าหากเจ้าหนี้จะปล่อยกู้ กิจการจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยให้ได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นตัวเลขที่หาได้ยิ่งมีค่ามากจะยิ่งดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินในระยะยาว เจ้าหนี้จะพิจารณาดอกเบี้ยที่จะได้รับในระยะยาว มากกว่าเงินต้น
จริง ๆ ยังมีอัตราส่วนทางการเงิน อีกหลายประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณรวมทั้งวิชาการบัญชีบริหารยังมีเนื้อหาอีกมากที่คุณจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการได้
บทความโดย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร www.facebook.com/udompk
Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA รุ่นที่ 3 (Certificate Program)
หลักสูตรเร่งรัดด้านการบริหารธุรกิจ สำหรับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารมือใหม่ และผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้องค์กรสู้กลับโลกยุค VUCA โดยศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดแห่งภูมิภาคเอเชีย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
60 ชม. คุ้มค่า เร่งรัด รวดเร็ว กับ 20 วิชาที่ครอบคลุมด้านการบริหารจัดการ โดย 20 จากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ
อบรมเฉพาะวันเสาร์ 9.00 – 16.00 น. เริ่ม 3 กันยายน – 19 พฤศจิกายน 2565
——————————
สมัครหรือสอบถามรายละเอียดที่
E-mail : [email protected]
Facebook : FastMiniMba
Line : @Fastminimba
หรือโทร. 090-276-9104