วิธีรับมือ 4 ปัญหาเรื่องคนที่ทุกบริษัทมักจะเจอ

วิธีรับมือ 4 ปัญหาเรื่องคนที่ทุกบริษัทมักจะเจอ

ไม่ว่าเราจะดำรงตำแหน่งอะไรในองค์กร ล้วนต้องใช้เทคนิคในการบริหารทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารคน เพราะคนนั้นมีหลากหลาย และซับซ้อน หากเกิดปัญหาเรื่องคนขึ้นแล้ว ย่อมที่จะแก้ไขได้ยากกว่าปัญหาเรื่องงาน ผู้บริหารหรือ HR จึงต้องมีแนวทางในการช่วยเหลือพนักงานในการบริหารจัดการคน เพื่อลดทอนปัญหาที่อาจจะเจอ วันนี้เราจึงมีวิธีการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับ 4 ปัญหาเรื่องคนที่ทุกบริษัทมักจะเจอมาฝากค่ะ

1. ปัญหาคน “ไม่รู้งาน”

ปัญหาเรื่องคนไม่รู้งาน มักเป็นปัญหาแรกที่เจอ ซึ่งอาจจะหมายความได้ตั้งแต่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร มีบทบาทหน้าที่มากน้อยแค่ไหน ตลอดจนไม่รู้ว่าจะทำงานนั้น ๆ อย่างไร ไม่รู้ขั้นตอนการทำงาน ไม่รู้จักลำดับความสำคัญของการทำงาน ไม่รู้ว่าจะต้องประสานงานหรือทำงานกับใครบ้าง เป็นต้น

ปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับเด็กจบใหม่และยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งโดยปกติบริษัททั่วไปมักจะมีพี่เลี้ยงที่คอยสอนงาน แต่บางครั้งปัญหาก็ยังอาจจะเกิดขึ้น อันเนื่องจากพี่เลี้ยงไม่มีเวลาหรือไม่ได้มีความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ เช่น เรื่องระเบียบการทำงาน หรือการเงิน เป็นต้น

ดังนั้นบริษัทจึงควรมีการปฐมนิเทศพนักงานใหม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร เป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบการทำงาน ตลอดจนกระบวนการทำงาน เพื่อให้พนักงานใหม่ได้รับทราบในเบื้องต้น และไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากการปฏิบัติจริงโดยมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำในส่วนของรายละเอียดงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบโดยตรง

นอกจากปัญหาของเด็กจบใหม่ที่ไม่รู้งานแล้วนั้น ปัญหานี้อาจจะเป็นปัญหาสำหรับพนักงานที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ได้ เพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ในตำแหน่งนั้น ๆ การไม่รู้งานในกรณีนี้ก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้างานในระดับที่สูงขึ้นในการคอยเป็นพี่เลี้ยง หรือหากไม่ สิ่งที่บริษัทจะเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานดังกล่าวได้ ก็คือ การส่งพนักงานไปฝึกอบรม เรียนรู้ตามสายงานที่ต้องรับผิดชอบ

2. ปัญหาคน “ไม่สื่อสาร”
ปัญหาเรื่องการสื่อสารถือเป็นปัญหาหลักที่ทุกองค์กร บ้างก็เพราะไม่ได้สื่อสาร เพราะคิดว่าอีกฝ่ายควรจะรู้อยู่แล้ว บ้างก็เพราะไม่รู้วิธีการสื่อสาร ทำให้สื่อสารได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ซึ่งการสื่อสารนั้นถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้พนักงานในองค์กรเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน มองเห็นภาพรวมขององค์กร รวมทั้งสามารถทำงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ระยะเวลาและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการทำงานที่บ้าน การสื่อสารยิ่งเพิ่มความสำคัญขึ้นมากเท่าตัว

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากผู้ส่งสารจะต้องคำนึงถึงสารที่จะส่ง ซึ่งต้องมีความชัดเจน สั้น กระชับ ได้ใจความ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจได้โดยง่ายแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้รับสาร และปัจจัยต่าง ๆ ของผู้รับสารด้วย เช่น ระดับความเข้าใจ และประโยชน์ที่ผู้รับสารจะได้ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

องค์กรจึงไม่ควรที่จะสนับสนุนเฉพาะเทคโนโลยีในการสื่อสารเท่านั้น หากแต่ควรจัดให้พนักงานมีการพัฒนาหรือเข้าใจในทักษะการสื่อสารเพื่อให้สามารถสื่อสารได้มีประสิทธิภาพอีกด้วย

3. ปัญหาคน “ขาดแรงจูงใจ”
การขาดแรงจูงใจหรือการหมดไฟในการทำงาน มักจะเกิดกับคนที่ทำงานกับองค์กรมานานพอสมควร ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเบื่อหน่ายเพราะรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมขององค์กร การหมดแรงเพราะงานที่เยอะจนเกิดไป ก่อให้เกิดความเครียดสะสม การไม่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง หรือในระบบการทำงาน และต้องทนทำงาน จนทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ตลอดจนการให้ความสนใจกับสิ่งอื่นที่มากกว่างาน เช่น ต้องเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

การแก้ปัญหาในกรณีนี้ จึงต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของพนักงานแต่ละคน และแก้ไขเป็นราย ๆ ไป เช่น หากพนักงานขาดแรงจูงใจจากการมองไม่เห็นหนทางเติบโตของตำแหน่งงาน ผู้บริหารหรือฝ่าย HR อาจจะต้องมีการวางแผน Career Path ที่ชัดเจน หากพนักงานทำงานเยอะจนเกินไป เพราะจำนวนพนักงานไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องสรรหาพนักงานเพิ่มเติม หรือหาคนมาช่วยเฉพาะกิจ เป็นต้น แต่หากปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับพนักงานจำนวนมาก อาจจะต้องพิจารณาในส่วนของระบบงาน หรือต้นเหตุระดับองค์กร ซึ่งการรู้ถึงปัญหาและยอมรับ จะนำสู่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

4. ปัญหาคน “สร้างมลพิษ”
ปัญหานี้องค์กรบางองค์กรอาจจะไม่ได้เจอ แต่หากองค์กรใดเจอ มักจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง เพราะคนที่สามารถสร้างมลพิษให้กับองค์กรนั้น มักจะเป็นคนที่มีทัศนคติลบ และเห็นแต่ข้อเสีย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสียขององค์กร หรือข้อเสียของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครต้องการที่จะทำงานกับบุคคลดังกล่าว เพราะย่อมไม่เกิดความราบรื่นในการทำงาน เช่น หน้าตาบูดบึ้ง หรือก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้บรรยากาศในการทำงานแย่ และยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ พูดจาโดยไม่คิด นินทาต่อว่าคนอื่น จะยิ่งส่งผลเสีย เพราะอาจทำให้พนักงานคนอื่น ๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือองค์กรไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้องค์กรต้องสูญเสียพนักงานดี ๆ คนอื่น ๆ ไปได้

ในการจะแก้ปัญหาคนที่สร้างมลพิษนั้น อาจต้องอาศัยการแก้ปัญหาปมในใจ หรือบุคลิกภาพส่วนตัว ซึ่งบริษัทบางแห่งเลือกใช้วิธีในการขจัดผู้ที่สร้างมลพิษให้แก่องค์กรออก เพราะก่อให้เกิดผลเสียหลายประการ และหากมองดูจริง ๆ แล้ว จะพบว่า เขาเหล่านั้นไม่ได้มีความสุขในการทำงานที่แท้จริง จึงทำให้เกิดการสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมา แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทในการพิจารณาผลดีผลเสียต่อองค์กร ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ดังนั้นในการรับพนักงาน องค์กรจึงควรศึกษาข้อมูลของผู้สมัครก่อนการรับเข้าทำงาน เช่น การสอบถามไปยังบริษัทที่ผู้สมัครเคยทำงานมาก่อน การให้ผู้สมัครทำแบบประเมินทัศนคติ หรือการเข้าไปส่อง Social Media ของผู้สมัคร เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เป็นต้น

นอกจากปัญหาทั้ง 4 เรื่องแล้ว บริษัทยังอาจจะเจอปัญหาเรื่องคนอีกหลากหลาย เช่น คนไม่พอ คนเก่งไม่อยากอยู่ คนอยู่ไม่อยากเก่ง ฯ ซึ่งต้องอาศัยงานด้านการบริหารจัดการคนหรืองานด้าน HR อย่างเป็นระบบเข้ามาช่วย


Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA รุ่นที่ 3  (Certificate Program)

หลักสูตรเร่งรัดด้านการบริหารธุรกิจ สำหรับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารมือใหม่ และผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้องค์กรสู้กลับโลกยุค VUCA โดยศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดแห่งภูมิภาคเอเชีย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

60 ชม. คุ้มค่า เร่งรัด รวดเร็ว กับ 20 วิชาที่ครอบคลุมด้านการบริหารจัดการ โดย 20 จากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ

อบรมเฉพาะวันเสาร์ 9.00 – 16.00 น. เริ่ม 3 กันยายน – 19 พฤศจิกายน 2565

——————————

สมัครหรือสอบถามรายละเอียดที่

E-mail: [email protected]

Facebook: Fast Mini MBA

Line: @fastminimba

หรือโทร. 090-276-9104