การบริหารธุรกิจในยุคเงินเฟ้อ

การบริหารธุรกิจในยุคเงินเฟ้อ

จากผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 7.66%  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2564) สูงสุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อธุรกิจไม่มากก็น้อย บางธุรกิจอาจจะได้รับผลในแง่ลบ แต่บางธุรกิจกลับส่งผลดี นั่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับธุรกิจที่ต้องปรับตัว จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เรามาดูกันว่า การบริหารธุรกิจในยุคเงินเฟ้อ ควรจะทบทวนอะไรบ้าง

1. Product Development การที่สินค้าแพงขึ้น อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของเราเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นธุรกิจอาจจะลองหาวิธีในการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบหรือพัฒนาสินค้าให้เหมาะสม ตอบโจทย์ในภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมที่จะรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงอยู่เช่นเดิม เช่น การออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ โดยใช้วัสดุที่ราคาถูกขึ้น แต่คุณสมบัติเหมือนเดิม การเพิ่มประเภทสินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่น ๆ ทดแทน เป็นต้น

2. Rethink เกี่ยวกับการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ตามแนวคิด 7 Waste คือ

– การลดความสูญเสียในด้านการผลิตที่มากเกินไป

– การสูญเสียอันเนื่องจากการเก็บวัสดุคงคลัง

– ความสูญเสียเนื่องจากการขนส่ง

– ความสูญเสียเนื่องจากการเคลื่อนไหว

– ความสูญเสียเนื่องจากกระบวนการผลิต

– ความสูญเสียเนื่องจากการอคอย

– การสูญเสียเนื่องจากการผลิตของเสีย

ซึ่งในการลดต้นทุนความสูญเสียต่าง ๆ เหล่านี้ ธุรกิจอาจค้นพบ Supplier รายใหม่ที่เหมาะสมกว่าเดิม ราคาถูกกว่าเดิม หรือพบกระบวนการผลิตที่กระชับขึ้น ช่วยลดต้นทุนมากขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาความเหมาะสมในการผลิตหลาย ๆ ด้าน เช่น จำนวนการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ความคุ้มค่าของการเพิ่มหรือลดกำลังการผลิต การเพิ่มหรือลดพนักงาน การเปลี่ยนไปจ้าง Outsource ฯลฯ

3. พิจารณาเรื่องการปรับราคาสินค้า เป็นเรื่องปกติที่เมื่อวัตถุดิบราคาแพง ธุรกิจมักมีการปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ในการพิจารณาปรับราคาสินค้านั้น ควรพิจารณา ดังนี้

ราคาขายในมุมมองของลูกค้า หากสินค้านั้นจัดอยู่ในกลุ่มที่ลูกค้ามีความอ่อนไหวต่อราคา การปรับราคาขึ้นอาจส่งผลให้ลูกค้าลดน้อยลงได้ แต่หากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับคุณค่าเป็นหลัก ลูกค้ามักไม่ค่อยอ่อนไหวต่อเรื่องราคา การปรับราคาขึ้นอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อการขายมากนัก ดังนั้นหากธุรกิจมีสินค้าทั้ง 2 ประเภท ก็ควรจะเลือกปรับราคาให้เหมาะสมกับประเภทลูกค้าและสินค้าดังกล่าว

ราคาในเชิงการแข่งขัน หากสินค้าของคู่แข่งมีการปรับราคาขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าคู่แข่งไม่สามารถรักษาระดับราคาได้ เราสามารถตัดสินใจเลือกใน 2 กรณี คือ ปรับราคาขึ้นตามกลไกราคาของตลาด หากเรายังสามารถรักษาต้นทุนได้เท่าเดิม เราก็จะได้กำไรที่เพิ่มขึ้น หรือ หากเราเลือกที่จะรักษาราคาเดิม เราก็จะได้ส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การพยายามรักษาต้นทุนไม่ให้สูงขึ้น ช่วยให้ธุรกิจสามารถได้เปรียบคู่แข่งได้ไม่ว่าในกรณีใด

4. สถานที่จัดจำหน่าย สถานที่ทำงาน รวมถึงคลังสินค้า แน่นอนว่าในยุคปัจจุบัน บางธุรกิจอาจไม่มีความจำเป็นในการมีหน้าร้านจริงอีกต่อไป รวมไปถึงบางธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศเป็นกิจลักษณะเช่นกัน เพราะปัจจุบันสามารถ Work from home ได้ อย่างไรก็ตามธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม เช่น หาก Work from home ตลอด จะสามารถควบคุมการทำงานได้หรือไม่ การที่เงินเฟ้อไม่ได้แปลว่าธุรกิจจะต้องควบคุมต้นทุนทุกอย่าง แต่หากสิ่งใดที่ยังจำเป็น ก็สามารถที่จะคงอยู่ได้ เพียงแต่ควรกลับมาพิจารณาถึงความเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น เช่น ในปัจจุบัน เราอาจจะไม่ต้องมีคลังสินค้าเป็นของตัวเอง แต่สามารถใช้บริการคลังสินค้าภายนอกได้ ซึ่งอาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้สำหรับในบางธุรกิจ

5. การตลาด อย่างที่รู้กันอยู่ว่าปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การตลาดออนไลน์กลายมาเป็นช่องทางที่สำคัญ ซึ่งในการทำการตลาดนั้น นอกจากที่เราจะต้องเข้าใจลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อให้เลือกใช้สื่อที่เหมาะสมแล้ว ข้อความที่จะสื่อก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กัน เพราะหากสื่อไปแล้วไม่ถึงลูกค้า ย่อมถือว่าไม่ได้ประโยชน์ นอกจากนี้เรายังควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและศึกษาคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขัน เช่น ถ้าคู่แข่งลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลง เราอาจจะเลือกเพิ่มงบประมาณขึ้น เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจเป็นหลักอีกด้วย เช่น หากผู้บริโภคมีความสนใจในสินค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่มีกำลังซื้อ ก็อาจจะเลือกใช้กลยุทธ์เจาะลูกค้าแทนการใช้สื่อแบบ mass เป็นต้น

6. การบริหารจัดการคน ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบัน ธุรกิจจะเริ่มหันมาจ้าง Outsource มากขึ้นกว่าการจ้างพนักงานประจำ เพื่อการลดต้นทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้งานเช่นกัน เพราะไม่ใช่ว่าการจ้าง Outsource จะช่วยลดต้นทุนในทุกกรณีไป เช่น ในสายการผลิตที่ต้องทำเป็นประจำ หากพนักงานไม่เพียงพอ และหันไปจ้าง Outsource แทน ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นกว่าการให้พนักงานทำก็เป็นได้

และอีกประเด็นที่หลาย ๆ คนมักพูดถึงก็คือ การฝึกอบรมพนักงาน บริษัทจำนวนมากคิดว่าการไม่ส่งพนักงานไปฝึกอบรมเป็นการลดต้นทุนอย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็น หรือเป็นเรื่องสำคัญรองลงไป แต่ในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงไป แม้กระทั่งผู้บริหารยังรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน พนักงานทั่วไปย่อมไม่สามารถรับมือได้เช่นกัน การให้ความรู้กับพนักงาน จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรใหญ่ ๆ จำนวนมากยังคงให้ความสำคัญ เพราะหากพนักงานมีความรู้ที่เหมาะสมย่อมสามารถสร้างให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นได้ เพียงแต่การฝึกอบรมพนักงานอาจจะต้องมีการวางแผนการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าและได้ผลอย่างแท้จริง

ไม่ว่าธุรกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ขาลง หรือช่วงเวลาใดก็ตาม เราควรมีเวลาทบทวนกลยุทธ์และการดำเนินงาน เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การบริหารธุรกิจในยุคเงินเฟ้อก็เช่นเดียวกัน โดยอาจสรุปเพื่อให้เข้าใจง่าย คือ ทบทวนตามหลัก 6’s P คือ Product Price Place Promotion People และ Production นั่นเอง


Fast Mini MBA for New Manager in the Age of VUCA รุ่นที่ 3  (Certificate Program)

หลักสูตรเร่งรัดด้านการบริหารธุรกิจ สำหรับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารมือใหม่ และผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้องค์กรสู้กลับโลกยุค VUCA โดยศูนย์เชี่ยวชาญการตลาดแห่งภูมิภาคเอเชีย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

60 ชม. คุ้มค่า เร่งรัด รวดเร็ว กับ 20 วิชาที่ครอบคลุมด้านการบริหารจัดการ โดย 20 จากนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ

อบรมเฉพาะวันเสาร์ 9.00 – 16.00 น. เริ่ม 3 กันยายน – 19 พฤศจิกายน 2565

——————————

สมัครหรือสอบถามรายละเอียดที่

E-mail: [email protected]

Facebook: Fast Mini MBA

Line: @fastminimba

หรือโทร. 090-276-9104